Lucid Dream ‘ความฝันรู้ตัว’

นิยามของ Lucid dreaming คือ สถาวะที่คนเรา สามารถที่จะรู้สึกตัว และตระหนักได้ว่าตนเองนั้นอยู่ในความฝัน ในขณะที่ตัวเองฝันอยู่ ทำให้สามารถควบคุมความฝันของตนเองได้ เช่น เมื่อเรากำลังฝันร้าย พบสิงโต ถ้าสามารถควบคุมความฝันได้ ก็จะสามารถเปลี่ยนสิงโตที่ดุร้าย เป็นแมวเชื่องๆ ได้ แล้วก็จะไม่พบกับฝันร้ายอีกต่อไป ทำให้มีสุขภาพจิตที่ดี และนอนเต็มอิ่ม

สำหรับ lucid dreaming นี้ นาย Stepen LaBerge ซึ่งเป็นนักเขียน และนักทดลองชื่อดัง ได้อธิบายไว้สั้นๆ ว่า

เป็นสภาวะ “ที่คุณสามารถฝัน ในขณะที่รู้ว่าตัวคุณเองกำลังฝันอยู่” (ฝันในฝัน?)

มีคำถามมากมายเกี่ยวกับ lucid dreaming และก็เกี่ยวกับสภาวะที่เรียกว่า “ความฝัน” ของมนุษย์ LaBerge และคณะ ได้เรียกกลุ่มคนที่ได้พยายามหาวิธีที่จะควบคุมความฝันว่า Oneironauts หรือ ตามภาษากรีกว่า “dream explorers” หรือ ผู้ท่องเที่ยวไปในความฝัน มีกลุ่มคนหลายกลุ่มที่สนใจเกี่ยวกับเรื่อง lucid dreaming เช่น นักจิตวิทยา, นักเขียน, นักวิทยาศาสตร์, ศิลปิน และ คนทั่วไป แต่อย่างไรก็ตาม แต่ละกลุ่ม ก็มีนิยาม และมีวิธีการเข้าถึง lucid dream ที่แตกต่างกัน และไม่ค่อยจะเหมือนกันเลย ไม่มีใครเข้าใจชัดเจนถึงกลไลที่จะทำให้เกิด lucid dreaming ซึ่งก็ดูเหมือนจะเป็นศาสตร์ที่ต้องหลักฐานวิทยาศาสตร์เพิ่มเติม และรอการพิสูจน์จากนักวิทยาศาสตร์ในอนาคต

การเข้าถึงสภาวะ lucid dreaming

สิ่งที่สำคัญ และดูเหมือนจะเป็นประเด็นหลักของการทำ lucid dreaming ก็คือ การรู้สึกตัว และมีสติอยู่เสมอ เมื่อกำลังหลับอยู่ ถ้าเมื่อไหร่ ที่สามารถจะรู้ตัวเองได้ ในความฝัน ว่านี่แหละฉันกำลังอยู่ในฝัน ฉันฝันไป และสามารถจะเปลี่ยนแปลงควบคุม ความฝันได้ นั่นแหละ คุณก็กำลังอยู่ในสภาวะ lucid dreaming แล้ว

มีคนจำนวนหนึ่งที่ได้อ้างว่า ตัวเองเคยมีประสบการณ์เกี่ยวกับ lucid dreaming มาก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ในวัยเด็ก” แต่สำหรับคนทั่วไปแล้ว การจะเข้าสู่สภาวะ lucid dreaming ได้เป็นประจำ แม้ว่าจะมีการฝึกฝนอย่างดี ด้วยเทคนิคต่างๆ นั้น กลับเป็นเรื่องที่ยาก และก็ไม่ได้แปลว่าจะเกิดขึ้นทุกๆ วัน

maxresdefault.jpg

แต่ถึงกระนั้น ก็มีทีมวิจัยจากหลากหลายสถาบัน พยายามที่จะพัฒนาเทคนิคที่จะทำให้คนเราสามารถควบคุมความฝันได้ โดยหนึ่งในนั้นก็คือกลุ่มวิจัยจากมหาวิทยาลัย Standford และ สถาบันวิจัย Lucidity ของนาย LaBerge ในปัจจุบันไม่มีผลสรุปที่แน่ชัดว่าการฝึกฝน lucid dreaming เป็นประจำ นั้นจะมีผลเสียต่อร่างกาย และจิตใจหรือไม่ นอกจากนั้นก็ไม่มีข้อสรุปแน่ชัดว่า การเข้าถึงสภาวะ lucid dreaming จะทำให้เสียผลประโยชน์ของการฝันธรรมดา ด้วยหรือไม่? โดยนักจิตวิทยาบางท่าน ได้กล่าวว่า การฝันธรรมดา นั้นจะทำให้เกิดการเข้าใจตัวเอง (self-understanding) ได้ดีกว่าการทำ lucid dreaming

การจดจำความฝันของตนเอง (dream recall) ก็เป็นหนึ่งในสิ่งที่นักผจญภัยความฝัน (lucid dreamer) หวังว่าจะสามารถทำได้คล่องแคล่ว เพราะว่าการจดจำความฝันนั้นเอง เป็นจุดเริ่มต้นที่จะเรียนรู้การเข้าถึงสภาวะ lucid dreaming สิ่งที่นักผจญภัยความฝันทำเป็นประจำนั้นก็คือ การจดความฝันของตัวเองลงในสมุดบันทึก เป็นประจำ ในทันทีหลังจากตื่นขึ้น

การทดสอบว่าสภาวะที่เป็นอยู่นั้นว่าจริงหรือเปล่า (Reality Testing) :

เทคนิคนี้คล้ายๆ กับที่สอนกันว่า ถ้าไปเจออะไรที่แปลกๆ หรือไม่ชอบมาพากล แล้วให้ลองหยิกตัวเองดูสักที ถ้าเจ็บก็จะได้รู้ว่าจริงนะ ไม่ได้ฝัน แต่นักวิจัยบอกว่า เทคนิคนี้สำคัญอย่างยิ่งสำหรับนักฝันมือใหม่ โดยคุณจะต้องปฏิบัติหลายๆ ครั้งในวันๆ หนึ่ง

วิธีการง่ายๆ เช่น ลองอ่านหนังสือสักข้อความหนึ่ง จากนั้นให้หันไปมองที่อื่น แล้วกลับมาอ่านใหม่อีกครั้งว่าข้อความในหนังสือยังเหมือนเดิมไหม หรือ ลองเพ่งจิตให้ข้อความในหนังสือเปลี่ยนแปลงไป

ฟังดูแปลกๆ พิลึก แต่เชื่อไหมว่า จากการวิจัยพบว่า หากคุณกำลังฝันรู้ตัวอยู่ ข้อความบนหน้าหนังสือนั้นจะเปลี่ยนแปลงไปได้ถึง 75% ในการอ่านซ้ำครั้งแรก และอาจถึง 95% ในการอ่านซ้ำครั้งที่สอง

036105-lucid-dreaming.jpg

สัญลักษณ์ที่บ่งว่ากำลังฝัน (Dreamsigns) :

สิ่งที่ปรากฏในความฝันที่ทำให้ผู้ฝันรู้ตัวว่าตัวเองกำลังฝันอยู่แน่ๆ เช่น รู้สึกว่าตัวเองกำลังเหาะเหินเดินอากาศอยู่อย่างเพลิดเพลิน เห็นสัตว์ที่มีรูปร่างหรือสีสันแปลกๆ พบเจอกับคนที่เสียชีวิตไปแล้ว หรือ รัฐบาลประกาศว่า หวยใต้ดินได้หมดไปจากเมืองไทยแล้ว อะไรทำนองนี้

คุณต้องศึกษาความฝันของตัวเองจนกระทั่งคุ้นเคยกับสัญลักษณ์ที่บ่งว่าคุณกำลังฝัน สัญลักษณ์นี้แตกต่างกันไป ของใครของมัน โดยหากเจ้าสัญลักษณ์นี้โผล่ขึ้นมาอีกเมื่อไร คุณก็จะมั่นใจว่ากำลังฝันอยู่แน่ๆ
การเหนี่ยวนำความฝันรู้ตัวโดยใช้เครื่องมือช่วยจำ (Mnemonic Induction of Lucid Dreams – MILD) :

เทคนิคนี้เรียกย่อๆ ว่า ไมลด์ (MILD) และมีขั้นตอนหลัก 4 ขั้น ดังนี้

  1. ตั้งใจว่าเดี๋ยวจะตื่นขึ้นในระหว่างที่กำลังนอนอยู่ และหากกำลังฝัน ก็จะจดจำความฝันนั้นไว้
  2. ก่อนล้มตัวลงนอนใหม่ ให้ตั้งใจว่าจะต้องรู้ตัวให้ได้ว่ากำลังฝันในระหว่างหลับครั้งต่อไป โดยอาจบอกตัวเองว่า “คราวหน้าหากฝัน ฉันจะรู้ตัวว่ากำลังฝัน” ดร. ลาเบิร์จบอกว่าให้ท่องประโยคนี้ซ้ำๆ เหมือนท่องบ่นมนตรา โดยมีสมาธิแน่วแน่
  3. ขณะที่กำลังท่องมนตร์อยู่นั้น ก็ให้จินตนาการพร้อมๆ กันไปด้วยว่า ได้กลับเข้าไปในฝันที่เพิ่งฝันก่อนตื่นขึ้นมา (หรืออาจจะเป็นฝันอื่นที่จดจำได้) และแสร้งทำเป็นรู้ตัวว่ากำลังฝันอยู่ โดยมองหาสัญลักษณ์ที่บ่งว่าคุณกำลังฝันไปด้วยพร้อมๆ กัน
  4. ทำขั้นตอนที่ 2 และ 3 ซ้ำจนคุณผล็อยหลับไป หรือจนกระทั่งความตั้งใจแน่วแน่เข้าที่ คือคิดแต่ว่าจะต้องรู้ตัวขณะกำลังฝันให้จงได้

เครดิต gotoknow.org

dmc.tv

Leave a comment